วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เซียมซีตามวัดหรือตามศาลเจ้า มีกำเนิดหรือที่มาอย่างไร

กิจกรรมหนึ่งสำหรับคนที่ชอบไปบนบานศาลกล่าวตามศาลเจ้าหรือวัด คือการเสี่ยงเซียมซีทำนายโชคชะตา ว่ากันว่าเซียมซีที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก นั้นแม่นนัก
เซียมซี หมายถึงใบแจ้งผลการเสี่ยงทายเขียนเป็นคำกลอนคนที่เสี่ยงเซียมซีจะสั่นกระบอกติ้วจนติ้วหลุดจากกระบอก ๑ อัน  ดูว่าไม้ติ้วนั้นมีเลขอะไรกำกับ แล้วไปเลือกเอาใบเซียมซีหมายเลขนั้นมาอ่าน  ในบางที่เช่นศาลเจ้าจีน  การเสี่ยงเซียมซีอาจไม่ได้จบลงแค่นั้น แต่เมื่อได้ติ้วมาแล้ว จะต้องเสี่ยงไม้ปวยประกอบด้วย ว่าติ้วเซียมซีนั้นเป็นของตนหรือไม่ โดยการโยนไม้ปวย ซึ่งเป็นไม้ทรงพระจันทร์เสี้ยวขนาดเท่ากัน ๒ อัน ไม้ปวยต้องคว่ำอันหนึ่ง หงายอันหนึ่ง ติ้วเซียมซีที่เสี่ยงได้จึงเป็นของตน  ถ้าไม้ปวยหงายหรือคว่ำทั้ง ๒ อัน ก็จะต้องเริ่มสั่นกระบอกติ้วใหม่
เซียมซีอาจจัดเป็นวรรณกรรมได้ประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นในประเทศจีนไม่น้อยว่า ๑,๐๐๐ ปี ในสมัยราชวงศ์ซ้อง แล้วแพร่เข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่คงมีขึ้นในศาลเจ้าของคนจีนก่อน  และใบเซียมซีก็เขียนเป็นภาษาจีน ต่อมาใบเซียมซีจึงได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในรูปร้อยกรองประมาณ ๔-๖ บทต่อใบ มีหลักฐานว่านายเปลี่ยน  แซ่ซ้อง ได้แปลใบเซียมซีภาษาจีนเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕

ในเวลาต่อมา ใบเซียมซีจีนก็ได้รับการแปลเป็นหลายสำนวนโดยกวีนิรนาม  รูปแบบการแต่งเซียมซีมีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มีเนื้อหาเกี่ยวกับชะตาชีวิต โชคลาภ ความรัก ความเจ็บไข้ ลูกหนี้ คดีความ บุตร ของสูญหาย การพบปะญาติมิตรใบเซียมซีหนึ่งชุดมีราว ๒๘ - ๓๖ ใบ จัดสัดส่วนเป็น ๔ ประเภท  คือ มีใบเซียมซีลักษณะดีมาก ๑ - ๒ ใบ  ดี ๘ - ๙  ใบ  ดีปานกลาง  ๙ - ๑๐ ใบ และไม่ดีประมาณ ๘ - ๙ใบ

“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น