วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกรุงเทพฯ

มีความเชื่อมาแต่โบราณว่า การตั้งเมืองนั้นต้องมีหลักเพื่อความเป็นเสถียรภาพและความมั่นคง เปรียบกับชีวิตของเราก็คงไม่ต่างกัน มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการหลักในการดำเนินชีวิตเพื่อการก้าวไปอย่างมั่นคง และสุขสมหวัง เมื่อใดก็ตามที่ได้ไปกราบไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายนั้น เราจึงมักจะอธิษฐานขอพรให้ชีวิตมีแต่ความมั่นคงในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านครอบครัว หน้าที่การงาน การเงิน หรือว่าความรัก โดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพสักการะด้วยความศรัทธาและความเชื่อในด้านของการขอพระเพื่อให้ชีวิตมีความมั่นคงนั้น ย่อมมีผู้กล่าวถึงศาลหลักเมือง ที่กรุงเทพฯ เป็นอันดับแรก

ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ เป็นที่ประดิษฐานพระหลักเมือง ซึ่งตั้งตระหง่านเป็นหลักชัยให้พระนครมาตั้งแต่ครั้งสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้มีพระราชพิธีฝังเสาพระหลักเมือง ตามความเชื่อแห่งโบราณราชประเพณี

ในการตั้งศาลหลักเมืองอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ยังมีเรื่องซึ่งเป็นตำนานเล่าขานอันเก่าแก่ถึงสี่ผู้เสียสละที่ยอดสังเวยชีวิตไว้ที่ก้นหลุมของเสาหลักเมือง คือ นายอิน นายจัน นายมั่น และนายคง ที่ยอมเป็นวิญญาณเพื่อคอยอารักษ์เมือง นอกจากนี้ในบริเวณศาลหลักเมืองยังเป็นที่สถิตของหอเทพารักษ์ อันเป็นที่ประดิษฐานแห่งเทวดาสำคัญทั้งห้าผู้คุ้มครองพระนคร คือ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลองซึ่งพระมหากษัตริย์และประชาชนให้ความเคารพอย่างไม่เสื่อมคลายมาแต่ครั้งอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน
วันและเวลาเปิด – ปิด
เปิดให้สักการะทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.
สถานที่ตั้ง
ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสนามหลวง ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง ถ.สนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ความเชื่อและวิธีการบูชา

เชื่อว่าหากผู้ใดได้มาขอพรอันศักดิ์สิทธิ์จากศาลหลักเมืองนี้แล้ว เปรียบประดุจได้เสริมหลักความมั่นคงให้กับชีวิตเหมือนตัดเคราะห์ ต่อดวงชะตา จะมีแต่ความสงบสุข ส่งเสริมวาสนาบารมี ประสบความสำเร็จในสัมมาอาชีพจนถึงหลักชัยในชีวิต ให้สักการะด้วยธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ทองคำเปลว ดอกบัว 2 ดอก พวงมาลัย 2 พวง ผ้าแพร 3 สี 1 ชุด ควรเริ่มจากการไหว้พระที่หอพระพุทธรูปก่อน แล้วปิดทอง ผูกผ้าแพรที่องค์พระหลักเมืองจำลอง นำพวงมาลัยไปถวายหลักเมืององค์จริง แล้วจึงไปถวายพวงมาลัยองค์เทพารักษ์ทั้ง 5 พร้อมทั้งเติมน้ำมันพระประจำวันเกิด ภายในศาลจะมีการ “ยกพระเสี่ยงทาย” ให้อธิษฐานถึงวิ่งที่หวัง ยกพระเสี่ยงทาย 2 ครั้ง ครั้งแรกตั้งจิตมั่นว่าถ้าทำสำเร็จ ขอให้ยกพระขึ้น ครั้งที่ 2 เปลี่ยนเป็นถ้าสำเร็จ ขอให้ยกพระไม่ขึ้น เชื่อว่าหากเป็นไปตามที่อธิษฐานทั้ง 2 ครั้ง แสดงว่าสิ่งที่ขอไว้จะสำเร็จตามปรารถนา
คาถาบูชาองค์พระหลักเมือง
(ท่องนะโม 3 จบ) ศรีโรเม เทพเทวานัง พระหลักเมืองเทวานัง พระภูมิเทวานัง ทีปธูปจะบุปผัง สักการะวันทนัง สูปพยัญชนะ สัมปันนัง สารีนัง อุททะกัง วะรัง เตปิตุมเห อานุรักษ์ขันตุ อาโรขเยนะ สุเขนะจะ
เซียมซีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกรุงเทพฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น